วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บุคคลสำคัญทางดนตรี

Shakira – Underneath your clothes [acoustic]

โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค 

โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค, ปี พ.ศ. 2291 วาดโดย อีเลียส ก็อตลอบ เฮาส์มันน์ (Elias Gottlob Haussmann)
โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เป็นคีตกวีและนักออร์แกนชาวเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ในครอบครัวนักดนตรี ที่เมืองไอเซนนาค บาคแต่งเพลงไว้มากมายโดยดั้งเดิมเป็นเพลงสำหรับใช้ในโบสถ์ เช่น “แพชชั่น” บาคถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2293 ที่เมืองไลพ์ซิก
บาคเป็นนักประพันธ์ดนตรีสมัยบาโรค เขาสร้างดนตรีของเขาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย บาคมีอิทธิพลอย่างสูงและยืนยาวต่อการพัฒนาดนตรีตะวันตก แม้แต่นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่เช่น โมซาร์ท และ เบโธเฟน ยังยอมรับบาคในฐานะปรมาจารย์
งานของบาคโดดเด่นในทุกแง่ทุกมุม ด้วยความพิถีพิถันของบทเพลงที่เต็มไปด้วย ท่วงทำนอง เสียงประสานหรือ เทคนิคการสอดประสานกันของท่วงทำนองต่าง ๆ รูปแบบที่สมบูรณ์แบบ เทคนิคที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี การศึกษาค้นคว้า แรงบันดาลใจอันเต็มเปี่ยม รวมทั้งปริมาณของบทเพลงที่แต่ง ทำให้งานของบาคหลุดจากวงจรทั่วไปของงานสร้างสรรค์ที่ปกติแล้วจะเริ่มต้น เจริญเติบโตถึงขีดสุด แล้วเสื่อมสลาย นั่นคือไม่ว่าจะเป็นเพลงที่บาคได้ประพันธ์ไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ หรือเพลงที่ประพันธ์ในช่วงหลังของชีวิตนั้นจะมีคุณภาพทัดเทียมกัน

 ประวัติ

 ไอเซอนาค

บาคถือกำเนิดในครอบครัวนักดนตรีที่ยึดอาชีพนักดนตรีประจำราชสำนัก ประจำเมืองและโบสถ์ในมณฑลทูรินจ์มาหลายชั่วอายุ ซึ่งก็นับได้ว่าโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค เป็นรุ่นที่ห้าแล้ว หากจะนับกันตั้งแต่บรรพบุรุษที่บาครู้จัก นั่นคือนายเวียต บาค ผู้มีชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในฐานะเจ้าของโรงโม่และนักดนตรีสมัครเล่นในฮังการี ตั้งแต่บาคเกิด สมาชิกครอบครับบาคที่เล่นดนตรีมีจำนวนหลายสิบคน ทำให้ตระกูลบาคกลายเป็นครอบครัวนักดนตรีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก
บาคได้รับการศึกษาทางดนตรีจากบิดา คือ โยฮันน์ อัมโบรซิอุส นักไวโอลิน เมื่ออายุได้สิบปี เขาก็ต้องสูญเสียทั้งมารดาและบิดาในเวลาที่ห่างกันเพียงไม่กี่เดือน ทำให้เขาต้องอยู่ในความอุปการะของพี่ชายคนโตโยฮันน์ คริสตอฟ บาค ผู้เป็นศิษย์ของโยฮันน์ พาเคลเบล และมีอาชีพเป็นนักเล่นออร์แกนในเมืองโอร์ดรุฟในขณะที่รับการศึกษาด้านดนตรีไปด้วย โยฮันน์ เซบาสเตียนได้แสดงให้เห็นความเป็นอัจฉริยะทางดนตรี รวมทั้งยังช่วยครอบครัวหาเงินโดยการเป็นนักร้องในวงขับร้องประสานเสียงของครอบครัว และยังชอบคัดลอกงานประพันธ์และศึกษาผลงานของนักประพันธ์อื่น ๆ ที่เขาสามารถพบหาได้อีกด้วย
 ลือเนบวร์ก
ทรัพย์สินเงินทองของพี่ชายชองโยฮันน์ เซบาสเตียน มีจำกัด อีกทั้งพี่ชายยังมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู ราวปี พ.ศ. 2243(ค.ศ. 1700) โยฮันน์ เซบาสเตียน ก็ได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนที่โรงเรียนในโบสต์ (ลา มิคาเอลิสสกูล) ที่เมืองลูนเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางเหนือราว 200 กิโลเมตร ซึ่งเขาต้องเดินทางด้วยเท้าไปเข้าเรียนที่นั่นพร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่ง นอกเหนือจากการเรียนดนตรีแล้ว เขายังได้ยังได้เรียนวาทศิลป์ ตรรกศาสตร์ ภาษาละติน ภาษากรีก และภาษาฝรั่งเศส เขายังได้ทำความรู้จักกับจอร์จ เบอห์ม นักดนตรีของ โจฮันเนส เคียร์ช และศิษย์ของ โยฮันน์ อาดัม เรนเคน นักเล่นออร์แกนคนดังของนครฮัมบูร์ก เรนเคนนี่เองที่เป็นคนสอนเขาเกี่ยวกับรูปแบบดนตรีของเยอรมนีตอนเหนือ ที่ลือเนบวร์ก เขายังได้รู้จักกับนักดนตรีชาวฝรั่งเศสอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโธมาส์ เดอ ลา เซลล์ ศิษย์ของลุลลี และด้วยการได้สัมผัสกับวัฒนธรรมทางดนตรีในอีกรูปแบบ เขาได้คัดลอกบทเพลงสำหรับออร์แกนของนิโกลาส์ เดอ กรินยี และเริ่มติดต่อทางจดหมายกับ ฟร็องซัวส์ คูเปอแรง
บาคศึกษาและวิเคราะห์โน้ตแผ่นของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงด้วยความละเอียดรอบคอบ ความสนอกสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของเขามีมาก กระทั่งว่าเขายอมเดินเท้าไปหลายสิบกิโลเมตรเพื่อจะฟังการแสดงของนักดนตรีดัง เป็นต้นว่าจอร์จ โบห์ม โยฮันน์ อาดัม เรนเคน และ วินเซนต์ ลึบเบ็ค และแม้กระทั่ง ดีทริช บุกซ์เตฮูเด้ ผู้ซึ่งโด่งดังกว่า
 อาร์นชตัดท์
ในปีพ.ศ. 2246 บาคได้กลายเป็นนักเล่นออร์แกนประจำเมืองอาร์นสตัดต์ เขาเริ่มมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะนักดนตรีเอก และนักดนตรีที่เล่นสดได้โดยไม่ต้องดูโน้ต
 มึลเฮาเซ่น
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2250 ถึง พ.ศ. 2251 เขาได้เป็นนักเล่นออร์แกนประจำเมืองมุห์ลโฮเซน บาคได้ประพันธ์เพลงแคนตาตาบทแรกขึ้น ซึ่งเป็นบทนำก่อนที่เขาจะเริ่มประพันธ์บทเพลงทางศาสนาอันยิ่งใหญ่อลังการ และเขายังได้ประพันธ์บทเพลงสำหรับบรรเลงด้วยออร์แกนเพิ่มเติมด้วย อันเป็นผลงานที่ยืนยันถึงความอัจฉริยะ ความลึกซึ้ง และความงามอันบริสุทธิ์ของเขา ทำให้บาคกลายเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ในบรรดาบทเพลงทางศาสนาแล้ว ตลอดชั่วชีวิตของบาค เขาได้ใช้เวลากับการประพันธ์เพลงคันตาต้า ร่วมห้าปี หรือกว่าสามร้อยชิ้น ในบรรดาบทเพลงราวห้าสิบชิ้นที่สูญหายไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
 ไวมาร์
ในระหว่างปี พ.ศ. 2251 ถึง พ.ศ. 2260 บาคดำรงตำแหน่งนักเล่นออร์แกน และนักไวโอลินเดี่ยวมือหนึ่ง ประจำวิหารส่วนตัวของดยุคแห่งไวมาร์ ทำให้เขามีทั้งออร์แกน เครื่องดนตรีและนักร้องประจำวงในครอบครอง ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ผลงานของบาคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงบรรเลงด้วยออร์แกน คันตาต้า เพลงสำหรับฮาร์ปซิคอร์ด ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปรมาจารย์ทางดนตรีชาวอิตาเลียนทั้งหลาย
 เคอเท่น
ระหว่างปี พ.ศ. 2260 ถึง พ.ศ. 2266 เขาได้ตำรงตำแหน่งผู้ดูแลวิหารประจำราชสำนักของเจ้าชายอานฮัลต์-เคอเธ่น เจ้าชายเป็นนักดนตรีและนักเล่นฮาร์ปซิคอร์ด ช่วงเวลาอันแสนสุขของการเติบโตในหน้าที่การงาน ได้เป็นแรงผลักดันให้เขาประพันธ์ผลงานที่ยิ่งใหญ่มากมาย สำหรับบรรเลงด้วย ลิวต์(Lute) ฟลู้ต ไวโอลิน(โซนาตาและบทเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลิน) ฮาร์ปซิคอร์ด(หนังสือ เว็ลเท็มเปอร์คลาเวียร์ เล่มที่สอง) เชลโล(สวีทสำหรับเดี่ยวเชลโล) และบทเพลงบรันเด็นเบอร์ก คอนแชร์โต้ หกบท
 ไลป์ซิก
ระหว่างปี พ.ศ. 2268 ถึง พ.ศ. 2293 หรือเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีที่บาคพำนักอยู่ที่เมืองไลพ์ซิก บาคได้สืบทอดตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีของโบสถ์เซนต์ โธมัส ในนิกายลูเธอรัน ต่อจากโยฮันน์ คูห์นาว เขาเป็นครูสอนดนตรีและภาษาละติน แต่ก็ยังต้องประพันธ์เพลงจำนวนมากให้กับโบสถ์ โดยมีบทเพลงคันตาต้า (Cantata) ทุกวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์ ในขณะดำรงตำแหน่งนี้ เขาได้ประพันธ์คันตาต้าไว้กว่า 126 บท แต่บทเพลงดังกล่าวมักจะไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างที่ควรเนื่องจากขาดแคลนเครื่องดนตรี และนักดนตรีที่มีฝีมือ
บาคได้ใช้แนวทางเดิมในการประพันธ์บทเพลงใหม่ ๆ แต่ความเป็นอัจฉริยะ ความคิดสร้างสรรค์ และความฉลาดของเขาทำให้ผลงานทุกชิ้นมีเอกลักษณ์ และถูกนับเป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมแห่งประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะ “เซนต์แมทธิวแพชชั่น” “แมส ในบันไดเสียงบีไมเนอร์” “เว็ลเท็มเปอร์คลาเวียร์”“มิวสิคคัล ออฟเฟอริ่ง” ดนตรีของบาคหลุดพ้นจากรูปแบบทั่วไป โดยที่เขาได้ใช้ความสามารถของเขาอย่างเต็มพิกัด และถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงจนถึงขีดสุดของความสมบูรณ์แบบ
 มรดกทางดนตรี
เมื่อโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ดนตรีบาโรคได้ถึงจุดสุดยอดและถึงกาลสิ้นสุดในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากการเสียชีวิตของบาค ดนตรีของเขาได้ถูกลืมไป เนื่องด้วยเพราะมันล้าสมัยไปแล้ว เช่นเดียวกับเทคนิคการสอดประสานกันของท่วงทำนองต่างๆที่เขาพัฒนาให้มันสมบูรณ์แบบอย่างหาใดเทียมทาน
บุตรชายที่เขาได้ฝึกสอนดนตรีไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิลเฮ็ล์ม ฟรีดมานน์ บาค คาร์ล ฟิลลิป เอ็มมานูเอ็ล บาค โยฮันน์ คริสตอฟ ฟรีดริช บาค และ โยฮันน์ คริสเตียน บาค ได้รับถ่ายทอดพรสวรรค์บางส่วนจากบิดา และได้รับถ่ายทอดเทคนิคการเล่นจากบาค ก็ได้ทอดทิ้งแนวทางดนตรีของบิดาเพื่อไปสนใจกับแนวดนตรีที่ทันสมัยกว่าในที่สุด เช่นเดียวกับนักดนตรีร่วมสมัยเดียวกันกับบาค (เป็นต้นว่า เกออร์ก ฟิลลิป เทเลมันน์ ผู้มีอายุแก่กว่าบาคสี่ปี ก็ได้รับอิทธิพลจากดนตรีที่ทันสมัยกว่า)
ปรากฏการณ์นิยมแนวดนตรีใหม่นี้ก็เกิดกับโวล์ฟกัง อมาดิอุส โมซาร์ทเช่นกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อบารอนฟาน สวีเทน ผู้หลงใหลในดนตรีบาโรคและมีห้องสมุดส่วนตัวสะสมบทเพลงบาโรคไว้เป็นจำนวนมาก ได้ให้โมซาร์ทชมผลงานอันยิ่งใหญ่ของบาคบางส่วน ทำให้ความมีอคติต่อดนตรีบาโรคของโมซาร์ทนั้นถูกทำลายไปสิ้น จนถึงขั้นไม่สามารถประพันธ์ดนตรีได้ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเขาสามารถยอมรับมรดกทางดนตรีของบาคได้แล้ว วิธีการประพันธ์ดนตรีของเขาก็เปลี่ยนไป ราวกับว่าบาคมาเติมเต็มรูปแบบทางดนตรีให้แก่เขา โดยที่ไม่ต้องละทิ้งรูปแบบส่วนตัวแต่อย่างใด ตัวอย่างผลงานของโมซาร์ทที่ได้รับอิทธิพลของบาคก็เช่น“เพลงสวดศพเรเควียม” “ซิมโฟนีจูปิเตอร์” ซึ่งท่อนที่สี่เป็นฟิวก์ห้าเสียง ที่ประพันธ์ขึ้นโดยใช้เทคนิคการสอดประสานกันของท่วงทำนองต่างๆ รวมทั้งบางส่วนของอุปรากรเรื่อง“ขลุ่ยวิเศษ”
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนรู้จักบทเพลงสำหรับคลาวิคอร์ดของบาคเป็นอย่างดี จนสามารถบรรเลงบทเพลงส่วนใหญ่ได้ขึ้นใจ ตั้งแต่วัยเด็ก
สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ความเป็นอัจฉริยะของบาคไม่ได้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเนื่องมาจากความพยายามของเฟลิกซ์ เม็นเดลโซห์น ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีที่โบสถ์เซนต์โธมัส แห่งเมืองไลพ์ซิก นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผลงานของบาคที่ยืนยงคงกระพันต่อการเปลี่ยนแปลงของรสนิยมทางดนตรี ก็ได้กลายเป็นหลักอ้างอิงที่มิอาจหาผู้ใดเทียมทานได้ในบรรดาผลงานดนตรีตะวันตก
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 30 ที่เมืองไลพ์ซิก คาร์ล สโตรป ได้คิดค้นวิธีบรรเลงบทเพลงของบาคในรูปแบบใหม่ โดยการใช้เครื่องดนตรีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และใช้วงขับร้องประสานเสียงในแบบที่ยืดหยุ่นกว่าที่บรรเลงและขับร้องกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขายังได้บรรเลงบทเพลงทางทฤษฎี เป็นต้นว่า อาร์ต ออฟฟิวก์ (โดยใช้วงดุริยางค์ประกอบด้วย) ผลสัมฤทธิ์ของแนวทางใหม่นี้ได้เห็นเป็นรูปธรรมในคริสต์ทศวรรษที่ 50 โดยมีนักดนตรีอย่างกุสตาฟ เลออนฮาร์ทและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของเขา รวมถึงนิโคเลาส์ อาร์นองกูต์ โดยที่กุสตาฟ เลออนฮาร์ทและนิโคเลาส์ อาร์นองกูต์เป็นนักดนตรีคนแรกๆที่บันทึกเสียงบทเพลงคันตาต้าของบาคครบทุกบท
แม้ว่าดนตรีของบาคจะถูกตีความในลักษณะอื่น เช่น แจ๊ส (บรรเลงโดยฌาค ลูสิเยร์(Jaques Loussier) หรือ เวนดี คาร์ลอส) บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีประเภทอื่น หรือถูกดัดแปลงเป็นแจ๊ส มันก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ ราวกับว่าโครงสร้างของบทเพลงที่โดดเด่นทำให้สิ่งอื่น ๆ กลายเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น
มาร์เซล ดูเปรสามารถบรรเลงบทเพลงทุกบทของบาคด้วยออร์แกนได้อย่างขึ้นใจ เช่นเดียวกับเฮลมุท วาลคา นักเล่นออร์แกนชาวเยอรมัน ผู้ที่ตาบอดตั้งแต่เกิด แต่ก็ได้หัดเล่นเพลงของบาคโดยอาศัยการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท

วัยเด็ก (ค.ศ. 1756 – ค.ศ. 1772)

โมซาร์ทเป็นบุตรของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน เลโอโปลด์ โมซาร์ท (ค.ศ. 1719 – ค.ศ. 1787) รองประธานโบสถ์ในความอุปถ้มภ์ของเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งซัลสบูร์ก (Salzbourg) กับแอนนา มาเรีย เพิร์ต (Anna Maria Pert) (ค.ศ. 1720 – ค.ศ. 1778) โวล์ฟกัง อมาเด (โมซาร์ทมักจะเรียกตนเองว่า “Wolfgang Amadè Mozart” ไม่เคยถูกเรียกว่า อมาเดอุส ตลอดช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่แม้กระทั่งในรายการบันทึกของพิธีศีลจุ่ม โดยได้รับชื่อละตินว่า “Joannes Chrysostomus Wolfgangus Theophilus Mozart” ) ได้แสดงได้เห็นอัจฉริยภาพทางดนตรี ก่อนวัยอันควร ตั้งแต่อายุสามขวบ เขามีหูที่ยอดเยี่ยม และความจำที่แม่นยำ ความสามารถพิเศษยิ่งยวด ทำให้เป็นที่น่าฉงนแก่ผู้คนรอบข้าง และเป็นแรงกระตุ้นให้บิดาของเขา ให้สอนฮาร์ปซิคอร์ดแก่เขา ตั้งแต่อายุห้าขวบ โมซาร์ทน้อยเรียนไวโอลินและออร์แกน เป็นเครื่องดนตรีชิ้นต่อมา ตามด้วยวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน เขารู้จักการแกะโน้ตจากบทเพลงที่ได้ยิน และเล่นทวนได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่วัยยังไม่รู้จักอ่านเขียนและนับเลข เมื่ออายุหกขวบ (ค.ศ. 1762) เขาก็แต่งเพลงชิ้นแรกได้แล้ว (เมนูเอ็ต KV.2, 4 และ 5 และ อัลเลโกร KV.3)
ระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1766 เขาได้เดินทางออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตกับบิดา (ที่เป็นลูกจ้างของเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งแชรตเตนบาค (Schrattenbach) และมาเรีย-อานนา พี่สาวคนโต (มีชื่อเล่นว่า “แนนเนิร์น” เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1751) พวกเขาเปิดการแสดงในนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ตามมาด้วยกรุงเวียนนา ก่อนที่จะออกเดินสายครั้งใหญ่ทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเริ่มตั้งแต่ มิวนิค ออกสบูร์ก มันน์ไฮม์ แฟรงค์เฟิร์ต บรัสเซล ปารีส ลอนดอน เฮก อัมสเตอดัม ดิจง ลียง เจนีวา โลซาน) การแสดงของเขาประทับใจผู้ชมเป็นอย่างมาก และยังทำให้เขาได้พบกับแนวดนตรีใหม่ๆอีกด้วย เขาได้พบกับนักดนตรีสามคนที่ต้องจดจำเขาไปตลอดชีวิต อันได้โยฮัน โชเบิร์ต ที่กรุงปารีส โยฮันน์ คริสเตียน บาค (บุตรชายคนรองของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค) ที่กรุงลอนดอน และเบอร์นัว แมร์ล็องผู้ซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ที่เมืองปาดู แมร์ล็องนี่เองที่ทำให้โมซาร์ทได้ค้นพบเปียโนฟอร์ท ที่ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และโอเปร่าในแบบของชาวอิตาเลียน แมร์ล็องยังได้สอนให้เขาแต่งซิมโฟนีอีกด้วย เมื่อปี ค.ศ. 1767โมซาร์ทได้ประพันธ์โอเปร่าเรื่องแรก ตั้งแต่อายุได้ 11 ปี ชื่อเรื่อง อพอลโล กับ ไฮยาซิน (K.38) เป็นบันเทิงคดีภาษาละติน ที่แต่งให้เปิดแสดงโดยคณะนักเรียน ของโรงเรียนมัธยม ที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแห่งเมืองซัลสบูร์ก เมื่อเขาเดินทางกลับถึงประเทศออสเตรีย เขาได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาบ่อยครั้ง และได้แต่งโอเปร่าสองเรื่องแรก ได้แก่ นายบาสเตียน กับ นางบาสเตียน และ ลา ฟินตา ซ็อมปลิซ ตลอดช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1768 เมื่อมีอายุได้ 12 ปี
ในปีถัดมา เขาได้รับการแต่งตั้ง จากเจ้าชายอาร์คบิชอป ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต บิดาของเขาได้ขอลาพักงาน โดยไม่รับเงินเดือนเพื่อพาเขาไปท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1769 ถึง ค.ศ. 1773 โมซาร์ทได้เดินทางไปประเทศอิตาลีหลายครั้งเพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับโอเปร่า อันเป็นรูปแบบดนตรีที่เขาใช้ประพันธ์ การแต่งงานของฟิกาโร (Le Nozze di Figaro) ,ดอน โจวานนี ,โคสิ ฟาน ตุตเต้ ,ขลุ่ยวิเศษ (Die Zauberflöte) ฯลฯ เขาสามารถนำเสียงดนตรีอันสูงส่งเหล่านี้ออกมาสู่โลกได้ จากใส่ใจในความกลมกลืนของเสียงร้อง และ ความสามารถในการควบคุมเสียง อันเกิดจากเครื่องดนตรีหลากชิ้น
โชคไม่ดีที่ ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1771 เจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งแชรตเตนบาคได้สิ้นชีพิตักษัย เจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งโคลโลเรโดได้กลายมาเป็นนายจ้างคนใหม่ของเขา

รับใช้เจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งโคลโลเรโด (ค.ศ. 1773 – ค.ศ. 1781)

โมซาร์ทไม่มีความสุขที่บ้านเกิดของเขา เนื่องจากนายจ้างใหม่ ไม่ชอบให้เขาออกไปเดินทางท่องเที่ยว และยังบังคับรูปแบบทางดนตรี ที่เขาได้ประพันธ์ให้กับพิธีทางศาสนา เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาไม่ยินดีที่จะยอมรับข้อบังคับนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอาร์คบิชอป เสื่อมถอยลงในอีกสามปีต่อมา โชคดีที่เขาได้รู้จักกับ โยเซฟ เฮย์เด้น ซึ่งก็ได้มาเป็นเพื่อนโต้ตอบทางจดหมาย และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตลอดชีวิต
“ข้าต้องการพูดต่อหน้าพระเจ้า ในฐานะชายผู้ซื่อสัตย์ บุตรชายของท่านเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ข้าเคยรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือรู้จักเพียงในนาม เขามีรสนิยม และนอกเหนือจากนั้น เป็นศาสตร์ทางการประพันธ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
ในจดหมายที่ โยเซฟ เฮย์เด้น เขียนถึง เลโอโปลด์ โมซาร์ท
“มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเคล็ดลับที่จะทำให้ข้าหัวเราะ และสัมผัสจิตวิญญาณส่วนที่อยู่ลึกสุดของข้าเอง”
วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท กล่าวถึงโยเซฟ เฮย์เด้น
ในปีค.ศ. 1776 โมซาร์ทมีอายุได้ 20 ปี และได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองซัลสบูร์ก อย่างไรก็ดี เจ้าชายอาร์คบิชอป ได้ปฏิเสธไม่ให้บิดาของเขาไปด้วย และบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต หลังจากการเตรียมการเป็นเวลาหนึ่งปี โมซาร์ทได้จากไปพร้อมกับมารดา โดยเดินทางไปยังนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ที่ซึ่งเขาหาตำแหน่งงานไม่ได้ จากนั้นจึงไปที่เมืองออกสบูร์ก และท้ายสุดที่มันน์ไฮม์ ที่ซึ่งเขาได้ทำความรู้จักกับนักดนตรีมากมาย อย่างไรก็ดี แผนการที่จะหาตำแหน่งงานของเขาไม่เป็นผลสำเร็จ ในระหว่างนั้นเองที่เขาได้ตกหลุมรักอลอยเซีย วีเบอร์ นักเต้นระบำแคนตาตาสาวอย่างหัวปักหัวปำ ที่ทำให้บิดาของเขาโกรธมาก และขอให้เขาอย่าลืมอาชีพนักดนตรี โมซาร์ทมีหนี้สินล้นพ้นตัว เขาเริ่มเข้าใจว่าจะต้องออกหางานทำต่อไป และออกเดินทางไปยังกรุงปารีสในเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1778

เป็นอิสระที่กรุงเวียนนา (ค.ศ. 1782-ค.ศ. 1791)


ในปีค.ศ. 1781โมซาร์ทเดินทางไปยังกรุงเวียนนากับเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งโคลโลเรโด ผู้ได้เลิกจ้างโมซาร์ทที่เวียนนา โมซาร์ทจึงตั้งรากฐานอยู่ที่เวียนนา เมื่อเห็นว่าชนชั้นสูงเริ่มชอบใจในตัวเขา และในปีเดียวกันนั้น โมซาร์ทได้แต่งงานกับคอนสแตนซ์ วีเบอร์ (นักร้อง(โซปราโน) ซึ่งเป็นน้องสาวของ อลอยเซีย วีเบอร์ ซึ่งโมซาร์ทเคยหลงรัก) โดยที่บิดาของโมซาร์ทไม่เห็นด้วยกับงานวิวาห์นี้ โมซาร์ทและคอนสแตนซ์มีลูกด้วยกันถึงหกคน ซึ่งเพียง 2 คนรอดพ้นวัยเด็ก
ปีค.ศ. 1782เป็นปีที่ดีสำหรับโมซาร์ท โอเปร่าเรื่อง Die Entführung aus dem Serail ประสบความสำเร็จอย่างมาก และโมซาร์ทก็ได้แสดงคอนเสิร์ต ชุดที่เขาเล่นในเปียโนคอนแซร์โตของเขาเอง
ระหว่างปีค.ศ. 1782 – ค.ศ. 1783 โมซาร์ทได้รับอิทธิพลจากผลงานของบราค และแฮนเดลผ่านบารอนก็อตตเฟร็ด วอน สวีเทน(Baron Gottfried van Swieten) แนวเพลงของโมซาร์ทจึงได้รับอิทธิพลจากยุคบารอคตั้งแต่นั้นมา อย่างที่เห็นได้ชัดในท่อนฟิวก์ของ ขลุ่ยวิเศษ และซิมโฟนี หมายเลข 41
ในช่วงนี้เองโมซาร์ทได้มารู้จักและสนิทสนมกับโยเซฟ เฮเด้น โดยทั้งสองมักจะเล่นในวงควอเตทด้วยกัน และโมซาร์ทก็ยังเขียนควอเตทถึงหกชิ้นให้เฮเด้น เฮเด้นเองก็ทึ่งในความสามารถของโมซาร์ท และเมื่อได้พบกับลีโอโปล์ด พ่อของโมซาร์ท ได้กล่าวกับเขาว่า “ต่อหน้าพระเจ้าและในฐานะคนที่ซื่อสัตย์ ลูกของท่านเป็นนักประพันธ์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้พบหรือได้ยิน เขามีรสนิยม และมากกว่านั้น เขามีความรู้เรื่องการประพันธ์” เมื่อโมซาร์ทอายุมากขึ้น เขาก็ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์แห่งศตวรรษที่ 18 และเป็นฟรีเมสันที่อยู่ในสาขาโรมัน คาทอลิค โอเปร่าสุดท้ายของโมซาร์ทแสดงถึงอิทธิพลฟรีเมสันนี้
ชีวิตของโมซาร์ทมักพบกับปัญหาทางการเงินและโรคภัยไข้เจ็บ โมซาร์ทย่อมไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานของเขา และเงินที่เขาได้รับนั้นก็ถูกผลาญด้วยวิถีชีวิตที่หรูหราอลังการ
โมซาร์ทใช้ชีวิตในช่วงปีค.ศ. 1786 ที่กรุงเวียนนาในอพาร์ตเมนท์ที่จนถึงวันนี้ยังสามารถเข้าชมได้ที่ดอมกาส 5 (Domgasse 5)หลังโบสถ์เซนต์สตีเฟน (St. Stephen’s Cathedral) โมซาร์ทประพันธ์ Le nozze di Figaro และ Don Giovanni ณ ที่แห่งนี้
บั้นปลายชีวิต
บั้นปลายและการเสียชีวิตของโมซาร์ทยังคงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปยากสำหรับนักวิชาการ เพราะมีทั้งตำนานและเรื่องเล่าแต่ขาดหลักฐาน มีทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าสุขภาพของโมซาร์ทเริ่มแย่ลงทีละเล็กทีละน้อย และโมซาร์ทเองก็รับรู้สภาพนี้ซึ่งปรากฏขึ้นในงานประพันธ์ของเขา แต่นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยอ้างถึงจดหมายที่โมซาร์ทเขียนถึงครอบครัว ที่ยังมีทัศนะคติที่สดใส และปฏิกิริยาของครอบครัวเมื่อได้ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของโมซาร์ท การเสียชีวิตของโมซาร์ทยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ใบมรณภาพของโมซาร์ทบันทึกไว้ว่าเขาเสียชีวิตเพราะ”ไข้ไทฟอยด์” และมีทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายการเสียชีวิตให้ละเอียดมากขึ้น ชกาลที่ โมซาร์ทเสียชีวิตในเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 5 เดือนธันวาคม ปีค.ศ. 1791 ในขณะที่เขากำลังประพันธ์เพลงเรเควียม ที่ประพันธ์ไม่เสร็จ ตามตำนานที่เล่าลือ โมซาร์ทตายโดยที่ไม่เหลือเงินและถูกฝังในหลุมศพของคนอนาถา ร่างของโมซาร์ทถูกฝังอย่างเร่งรีบในที่ฝังศพสาธารณะ เพราะระหว่างที่นำศพไปนั้นเกิดมีพายุแรงและฝน ลูกเห็บตกอย่างหนัก ทำให้หีบศพถูกหย่อนไว้ร่วมกับศพคนยากจนอื่นๆ ไม่มีเครื่องหมายใดว่านี่คือศพของโมซาร์ท
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โมซาร์ทไม่เป็นที่นิยมชมชอบอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป เขายังคงมีงานที่มีรายได้ดีจากราชสำนัก และยังได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมากจากส่วนอื่นๆของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรุงปราก ยังมีจดหมายขอความช่วยเหลือทางการเงินของโมซาร์ทหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าเขาจนเพราะรายจ่ายเกินรายรับ ศพของเขาไม่ได้ถูกฝังในหลุมฝังศพรวม แต่ในสุสานของชุมชนตามกฎหมายของปีค.ศ. 1783 แม้ว่าหลุมศพดั้งเดิมในสุสานเซนต์มาร์กจะหายไป แต่ก็มีป้ายหลุมศพที่ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานในเซนทรัลไฟรด์ฮอฟ
ในปีค.ศ. 1809 คอนสแตนซ์ได้แต่งงานใหม่กับจอร์จ นีโคเลาส์ ฟอน นีสเสน นักการทูตชาวเดนมาร์ก (ชาตะค.ศ. 1761 มรณะค.ศ. 1826) ผู้ซึ่งหลงใหลคลั่งใคล้ในตัวโมซาร์ทอย่างมาก ถึงกับแต่งเรื่องราวเกินจริงจากจดหมายของโมซาร์ท และแต่งชีวประวัติของคีตกวีเอกอีกด้วย
โมซาร์ทมีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สมัยรัตนโกสินทร์
ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน
เบโทเฟนเป็นตัวอย่างของศิลปินยุคโรแมนติกผู้โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่เข้าใจของบุคคลในยุคเดียวกันกับเขา ในวันนี้ เขาได้กลายเป็นคีตกวีที่มีคนชื่นชมยกย่องและฟังเพลงของเขากันอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขามีอุปสรรคนานัปการที่ต้องฝ่าฟัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมในใจเขา ในรูปภาพต่างๆ ที่เป็นรูปเบโธเฟน สีหน้าของเขาหลายภาพแสดงออกถึงความเครียด แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของเขา ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆในชีวิตของเขาได้ ตำนานที่คงอยู่นิรันดร์เนื่องจากได้รับการยกย่องจากคีตกวีโรแมนติกทั้งหลาย เบโทเฟนได้กลายเป็นแบบอย่างของพวกเขาเหล่านั้นด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียมทาน ซิมโฟนีของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิมโฟนีหมายเลข 5 ซิมโฟนีหมายเลข 6 ซิมโฟนีหมายเลข 7 และ ซิมโฟนีหมายเลข 9) และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนที่เขาประพันธ์ขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนแชร์โตหมายเลข 4 และ 5) เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็มิได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะทั้งหมดของคีตกวีไว้ในนั้น
ประวัติ
ลุดวิก ฟาน เบโทเฟนเกิดที่เมืองบอนน์ (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 และได้เข้าพิธีศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1770 เป็นลูกชายคนรองของโยฮันน์ ฟาน เบโทเฟน (Johann van Beethoven) กับ มาเรีย แม็กเดเลนา เคเวริช (Maria Magdelena Keverich) ขณะที่เกิดบิดามีอายุ 30 ปี และมาดามีอายุ 26 ปี ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ และพี่ชายที่ชื่อลุดวิกเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ครอบครัวของเขามีเชื้อสายเฟลมิช (จากเมืองเมเชเลนในประเทศเบลเยียม) ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด นามสกุลของเขาจึงขึ้นต้นด้วย ฟาน ไม่ใช่ ฟอน ตามที่หลายคนเข้าใจ
บิดาเป็นนักนักร้องในคณะดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ซ้ำยังติดสุรา รายได้เกินครึ่งหนึ่งของครอบครัวถูกบิดาของเขาใช้เป็นค่าสุรา ทำให้ครอบครัวยากจนขัดสน บิดาของเขาหวังจะให้เบโทเฟน ได้กลายเป็นนักดนตรีอัจฉริยะอย่าง โมซาร์ท นักดนตรีอีกคนที่โด่งดังในช่วงยุคที่เบโทเฟนยังเด็ก จึงเริ่มสอนดนตรีให้ใน ค.ศ. 1776 ขณะที่เบโทเฟนอายุ 5 ปี
แต่ด้วยความหวังที่ตั้งไว้สูงเกินไป (ก่อนหน้าเบโทเฟนเกิด โมซาร์ท สามารถเล่นดนตรีหาเงินให้ครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 6 ปี บิดาของเบโทเฟนตั้งความหวังไว้ให้เบโทเฟนเล่นดนตรีหาเงินภายในอายุ 6 ปีให้ได้เหมือนโมซาร์ท) ประกอบกับเป็นคนขาดความรับผิดชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนดนตรีของบิดานั้นเข้มงวด โหดร้ายทารุณ เช่น ขังเบโทเฟนไว้ในห้องกับเปียโน 1 หลัง , สั่งห้ามไม่ให้เบโทเฟนเล่นกับน้องๆ เป็นต้น ทำให้เบโทเฟนเคยท้อแท้กับเรื่องดนตรี แต่เมื่อได้เห็นสุขภาพมารดาที่เริ่มกระเสาะกระแสะด้วยวัณโรคปอด ก็เกิดความพยายามสู้เรียนดนตรีต่อไป เพื่อหาเงินมาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
ค.ศ. 1777 เบโทเฟนเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาละตินสำหรับประชาชนที่เมืองบอนน์
ค.ศ. 1778 การฝึกซ้อมมานานสองปีเริ่มสัมฤทธิ์ผล เบโทเฟนสามารถเปิดคอนเสิร์ตเปียโนในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ขณะอายุ 7 ปี 3 เดือน ที่เมืองโคโลญจน์ (Cologne) แต่บิดาของเบโทเฟนโกหกประชาชนว่าเบโทเฟนในขณะนั้นอายุ 6 ปี เพราะยิ่งตัวเลขอายุเบโทเฟนน้อย ประชาชนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น ในฐานะนักดนตรีที่เก่งตั้งแต่เด็ก
หลังจากนั้น เบโทเฟน ก็เรียนไวโอลินและออร์แกนกับอาจารย์หลายคน จนใน ค.ศ. 1781 เบโทเฟนได้เป็นศิษย์ของคริสเตียน กอตท์โลบ เนเฟ (Christian Gottlob Neefe) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สร้างความสามารถในชีวิตให้เขามากที่สุด เนเฟสอนเบโทเฟนในเรื่องเปียโนและการแต่งเพลง
ค.ศ. 1784 เบโทเฟนสามารถเข้าไปเล่นออร์แกนในคณะดนตรีประจำราชสำนัก ในตำแหน่งนักออร์แกนที่สองในคณะดนตรีประจำราชสำนัก มีค่าตอบแทนให้พอสมควร แต่เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ ก็หมดไปกับค่าสุราของบิดาเช่นเคย
ค.ศ. 1787 เบโทเฟนเดินทางไปยังเมืองเวียนนา(Vienna) เพื่อศึกษาดนตรีต่อ เขาได้เข้าพบโมซาร์ท และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมซาร์ทฟัง เมื่อโมซาร์ทได้ฟังฝีมือของเบโทเฟนแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าเบโทเฟนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป แต่อยู่เมืองนี้ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวว่า อาการวัณโรคปอดของมารดากำเริบหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับบอนน์ หลังจากกลับมาถึงบอนน์และดูแลแม่ได้ไม่นาน มารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1787 ด้วยวัย 43 ปี เบโทเฟนเศร้าโศกซึมเซาอย่างรุนแรง ในขณะที่บิดาของเขาก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่การเสียใจของบิดานั้น ทำให้บิดาของเขาดื่มสุราหนักขึ้น ไร้สติ จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากคณะดนตรีประจำราชสำนัก เบโทเฟนในวัย 16 ปีเศษ ต้องรับบทเลี้ยงดูบิดาและน้องชายอีก 2 คน
ค.ศ. 1788 เบโทเฟนเริ่มสอนเปียโนให้กับคนในตระกูลบรอยนิงค์ เพื่อหาเงินให้ครอบครัว
ค.ศ. 1789 เบโทเฟนเข้าเป็นนักศึกษาไม่คิดหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยบอนน์
ค.ศ. 1792 เบโทเฟน ตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เบโทเฟนมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโจเซฟ ไฮเดิน หลังจากเขาเดินทางมาเวียนนาได้ 1 เดือน ก็ได้รับข่าวว่า บิดาป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต (มาเวียนนาครั้งก่อน อยู่ได้ครึ่งเดือนมารดาป่วยหนัก มาเวียนนาครั้งนี้ได้หนึ่งเดือนบิดาป่วยหนัก) แต่ครั้งนี้ เขาตัดสินใจไม่กลับบอนน์ แบ่งหน้าที่ในบอนน์ให้น้องทั้งสองคอยดูแล และในปีนั้นเอง บิดาของเบโทเฟน ก็สิ้นใจลงโดยไม่มีเบโทเฟนกลับไปดูใจ แต่ทางเบโทเฟนเอง ก็ประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาได้สดๆ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงขุนนางและครอบครัวของขุนนาง
ค.ศ. 1795 เขาเปิดการแสดงดนตรีในโรงละครสาธารณะในเวียนนา และแสดงต่อหน้าประชาชน ทำให้เบโทเฟนเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น
ค.ศ. 1796 ระบบการได้ยินของเบโทเฟนเริ่มมีปัญหา เขาเริ่มไม่ได้ยินเสียงในสถานที่กว้างๆ และเสียงกระซิบของผู้คน เขาตัดสินใจปิดเรื่องหูตึงนี้เอาไว้ เพราะในสังคมยุคนั้น ผู้ที่ร่างกายมีปัญหา(พิการ) จะถูกกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม จนในที่สุดผู้พิการหลายคนกลายเป็นขอทาน ดังนั้น เขาต้องประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อนจึงจะเปิดเผยเรื่องนี้ จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิคคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิค แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด
ค.ศ. 1801 เบโทเฟนเปิดเผยเรื่องปัญหาในระบบการได้ยินให้ผู้อื่นฟังเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้สังคมยอมรับ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องปกปิดเรื่องอาการหูตึงอีก หลังจากนั้น ก็เป็นยุคที่เขาประพันธ์เพลงออกมามากมาย แต่เพลงที่เขาประพันธ์นั้นจะมีปัญหาตรงที่มันล้ำสมัยเกินไป ผู้ฟังเพลงไม่เข้าใจในเนื้อหา แต่ในภายหลัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเข้าใจในเนื้อเพลงของเบโทเฟน บทเพลงหลายเพลงเหล่านั้นก็เป็นที่นิยมล้นหลามมาถึงปัจจุบัน
เมื่อเบโทเฟนโด่งดัง ก็ย่อมมีผู้อิจฉา มีกลุ่มที่พยายามแกล้งเบโทเฟนให้ตกต่ำ จนเบโทเฟนคิดจะเดินทางไปยังเมืองคาสเซล ทำให้มีกลุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของเบโทเฟนมาขอร้องไม่ให้เบโทเฟนไปจากเวียนนา พร้อมทั้งเสนอตัวให้การสนับสนุนการเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าเบโทเฟนต้องอยู่ในเวียนนา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ และผลิตผลงานตามที่เขาต้องการโดยไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร
เบโทเฟนโด่งดังมากในฐานะคีตกวี อาการสูญเสียการได้ยินมีมากขึ้น แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบโทเฟนถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น – สั้น – สั้น – ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเตตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ในช่วงนี้ เบโทเฟนมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็กๆขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ แต่ภายหลัง เขาก็ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับหลานชายเป็นที่เรียบร้อย
ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้ที่เบโทเฟนเป็นมานานก็กำเริบหนัก หลังจากรักษาแล้ว ได้เดินทางมาพักฟื้นที่บ้านน้องชายบนที่ราบสูง แต่อารมณ์แปรปรวนก็ทำให้เขาทะเลาะกับน้องชายจนได้ เขาตัดสินใจเดินทางกลับเวียนนาในทันที แต่รถม้าที่นั่งมา ไม่มีเก้าอี้และหลังคา เบโทเฟนทนหนาวมาตลอดทาง ทำให้เป็นโรคปอดบวม แต่ไม่นานก็รักษาหาย
12 ธันวาคม ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้และตับของเบโทเฟนกำเริบหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ
26 มีนาคม ค.ศ. 1827 เบโทเฟนก็เสียชีวิตลง งานพิธีศพของเขาได้จัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ ตรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา
รูปแบบทางดนตรีและนวัตกรรม
ในประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว ผลงานของเบโทเฟนแสดงถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคคลาสสิก (ค.ศ. 1750 – ค.ศ. 1810) กับ ยุคโรแมนติก (ค.ศ. 1810 – ค.ศ. 1900) ในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขา เบโทเฟนได้นำเสนอทำนองหลักที่เน้นอารมณ์รุนแรงในท่อนโหมโรง เช่นเดียวกับในอีกสี่ท่อนที่เหลือ (เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในผลงานประพันธ์ช่วงวัยเยาว์ของเขา) ช่วงต่อระหว่างท่อนที่สามกับท่อนสุดท้าย เป็นทำนองหลักของอัตทากาโดยไม่มีการหยุดพัก และท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้มีการนำการขับร้องประสานเสียงมาใช้ในบทเพลงซิมโฟนีเป็นครั้งแรก (ในท่อนที่สี่) ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีอย่างแท้จริง
เขาได้ประพันธ์โอเปราเรื่อง “ฟิเดลิโอ” โดยใช้เสียงร้องในช่วงความถี่เสียงเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนี โดยมิได้คำนึงถึงขีดจำกัดของนักร้องประสานเสียงแต่อย่างใด
หากจะนับว่าผลงานของเขาประสบความสำเร็จต่อสาธารณชน นั่นก็เพราะแรงขับทางอารมณ์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในงานของเขา
ในแง่ของเทคนิคทางดนตรีแล้ว เบโฟเทนได้ใช้ทำนองหลักหล่อเลี้ยงบทเพลงทั้งท่อน และนับเป็นผลสัมฤทธิ์ทางดนตรีที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นทางจังหวะที่มีความแปลกใหม่อยู่ในนั้น เบโทเฟนได้ปรับแต่งทำนองหลัก และเพิ่มพูนจังหวะต่างๆเพื่อพัฒนาการของบทเพลงเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ
เขาใช้เทคนิคนี้ในผลงานเลื่องชื่อหลายบท ไม่ว่าจะเป็นท่อนแรกของคอนแชร์โตหมายเลข 4 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรก) ท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 5 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรกเช่นกัน) ท่อนที่สองของซิมโฟนีหมายเลข 7 (ในจังหวะอนาเปสต์) การนำเสนอความสับสนโกลาหลของท่วงทำนองในรูปแบบแปลกใหม่ตลอดเวลา ความเข้มข้นของท่วงทำนองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ย้อนกลับมาสู่โสตประสาทของผู้ฟังอยู่เรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อผู้ฟังอย่างถึงขีดสุด
เบโทเฟนยังเป็นบุคคลแรกๆที่ศึกษาศาสตร์ของวงออร์เคสตราอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเพลง การต่อบทเพลงเข้าด้วยกันโดยเปลี่ยนรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโน้ตแผ่นที่เขาเขียนให้เครื่องดนตรีช้นต่างๆนั้นได้แสดงให้เห็นวิธีการนำเอาธีมหลักกลับมาใช้ในบทเพลงเดียวกันในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนเสียงประสานเล็กน้อยในแต่ละครั้ง การปรับเปลี่ยนโทนเสียงและสีสันทางดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบได้กับการเริ่มบทสนทนาใหม่ โดยที่ยังรักษาจุดอ้างอิงของความทรงจำเอาไว้
สาธารณชนในขณะนี้จะรู้จักผลงานซิมโฟนีและคอนแชร์โตของเบโทเฟนเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่ทราบว่าผลงานการคิดค้นแปลกใหม่ที่สุดของเบโทเฟนนั้นได้แก่แชมเบอร์มิวสิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนาตาสำหรับเปียโน 32 บท และบทเพลงสำหรับวงควอเตตเครื่องสาย 16 บท นั้นนับเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีอันเจิดจรัส — โซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้นนับเป็นผลงานสุดคลาสสิก — บทเพลงซิมโฟนีเป็นผลงานคิดค้นรูปแบบใหม่ — ส่วนบทเพลงคอนแชร์โตนั้น ก็นับว่าควรค่าแก่การฟัง
ผลงานซิมโฟนี
โจเซฟ ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้กว่า 100 บท โมซาร์ทประพันธ์ไว้กว่า 40 บท หากจะนับว่ามีคีตกวีรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว เบโทเฟนไม่ได้รับถ่ายทอดมรดกด้านความรวดเร็วในการประพันธ์มาด้วย เพราะเขาประพันธ์ซิมโฟนีไว้เพียง 9 บทเท่านั้น และเพิ่งจะเริ่มประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 แต่สำหรับซิมโฟนีทั้งเก้าบทของเบโทเฟนนั้น ทุกบทต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซิมโฟนีสองบทแรกของเบโทเฟนได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากดนตรีในยุคคลาสสิก อย่างไรก็ดี ซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อเรียกว่า “อิรอยอิเคอร์” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียบเรียงวงออร์เคสตราของเบโทเฟน ซิมโฟนีบทนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่าบทก่อนๆ เฮโรอิกโดดเด่นด้วยความสุดยอดของเพลงทุกท่อน และการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา เพราะแค่ท่อนแรกเพียงอย่างเดียวก็มีความยาวกว่าซิมโฟนีบทอื่นๆที่ประพันธ์กันในสมัยนั้นแล้ว ผลงานอันอลังการชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ต และส่งเบโทเฟนขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดสถาปนิกทางดนตรี และเป็นคีตกวีคนแรกแห่งยุคโรแมนติก

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) 

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ชื่อเดิม ปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit – 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 -25 ธันวาคม พ.ศ. 2511) บุคคลสำคัญในวงการดนตรีของประเทศไทย ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการบันทึกเพลงไทยเดิมด้วยโน้ตเพลงสากล และเป็นผู้วางรากฐานวงดุริยางค์ทหารอากาศและวงดุริยางค์ตำรวจ

ประวัติ

พระเจนดุริยางค์เกิดที่ตำบลบ้านทวาย จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายยาคอบ ไฟท์ (Jakob Feit) ชาวเยอรมันกับนางทองอยู่ ชาวไทยเชื้อสายมอญ มีภรรยาสามคนคือนางเบอร์ธา นางบัวคำและนางลิ้ม มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 10 คน พระเจนฯ เริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อ พ.ศ. 2433 และจบการศึกษาหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2433 พระเจนฯ เริ่มเรียนดนตรีกับบิดาเมื่ออายุ 10 ขวบ ต่อจากนั้นได้ศึกษาดนตรีด้วยตนเองมาโดยตลอดจนมีความรู้และความชำนาญในการดนตรีอย่างแตกฉาน
พระเจนดุริยางค์สมัครเข้าเป็นครูโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อ พ.ศ. 2444 แต่ต่อมาอีก 2 ปีจึงเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง ในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้โอนมาเป็นครูในกรมมหรสพซึ่งต่อได้โอนมาอยู่กรมศิลปากร ในตำแหน่งครูวงเครื่องสายฝรั่งหลวง และทำหน้าที่ผู้สอนวิชาดนตรีสากลให้สามัคยาจารยสมาคมและผลักดันให้วิชาขับร้อง (ด้วยโน้ต) เป็นวิชาเลือกในการสอบเลื่อนวิทยฐานะทั้งชุดของครูประถมและครูมัธยม
พระเจนดุริยางค์ได้โอนสังกัดไปสอนในวงดุริยางค์ทหารอากาศเมื่อ พ.ศ. 2483 เมื่ออายุได้ 57 ปี จนเกษียณอายุราชการ หลังเกษียณแล้วได้รับเชิญเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร และในปี พ.ศ. 2493กรมตำรวจได้ขอยืมตัวให้ไปก่อตั้งวงดุริยางค์สากลกรมตำรวจและทำงานให้กรมตำรวจจนถึงแก่กรรมเมื่อายุได้ 85 ปี 5 เดือน

 ผลงาน

ผลงานที่สำคัญของท่านนอกจากจะเป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทยแล้ว ยังเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งอำนวยการสร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์อีกด้วย ด้านเพลงไทยเดิม พระเจนดุริยางค์เป็นผู้ให้ทำนองเพลงพม่ารำขวาน เพลงธรณีกรรแสง เพลงพม่าประเทศ นอกจากนี้ยังได้เรียบเรียงตำราวิชาดนตรีสากลเป็นภาษาไทย เช่นทฤษฎีการดนตรีตอนต้น การประสานเสียงเบื้องต้นรวมทั้งตำราประสานเสียง 3 เล่มจบ
พระเจนดุริยางค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์ช้างเผือกทวีติยาภรณ์มงกุฏไทยตติยานุจุลจอมเกล้า, และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

เอื้อ สุนทรสนาน

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า “ครูเอื้อ” (21 มกราคม พ.ศ. 2453 – 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลง อาทิ เพลงถวายพระพร เพลงวันลอยกระทง เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด และเป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
เอื้อ สุนทรสนาน ได้แต่งเพลงร่วมกับแก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงรำวงลอยกระทง เพลงรำวงเริงสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกเพลงไทยสากล และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2518
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอ เอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกก็ได้ยกย่องครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

ชีวิตในวัยเด็ก

เอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า “ละออ” ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น “บุญเอื้อ” และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “เอื้อ” ครูเอื้อมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่
“              หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน  จากพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
“              นางปาน แสงอนันต์
“              นายเอื้อ สุนทรสนาน
เอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท เอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง เอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง ครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า เอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีกอย่างหนึ่งด้วย และให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป

ชีวิตการทำงาน

2 ปีต่อมา ความสามารถของเอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น “เด็กชา” เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ “พันเด็กชาตรี” และ “พันเด็กชาโท” ในปีถัดไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา
นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว เอื้อยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง “ยอดตองต้องลม” ขึ้น นับเป็นเพลงในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ เอื้อ สุนทรสนาน ให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติ ให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง เอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย

 กรมโฆษณาการ

ในปี พ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อว่า บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “ถ่านไฟเก่า” เอื้อมีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง “ในฝัน” แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย
จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง เอื้อ สุนทรสนาน จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ “ไทยฟิล์ม” ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย
จากนั้นอีก 1 ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร
และนี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8

 ครอบครัว

เอื้อ สุนทรสนาน ได้สมรสกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางอติพร เสนะงศ์ สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์

 ตำแหน่งการทำงาน

เอื้อ สุนทรสนาน ได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
เอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ เอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516
ถึงแม้เอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่เอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ วันที่เอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

 ปัจฉิมวัย

ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน เอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 เอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 เอื้อ สุนทรสนาน ก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
เอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523 – 2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี นางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
แหล่งที่มา http://themusichouse.wordpress.com